แม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตของโรคระบาด COVID-19 ไปแล้ว แต่หลายคนยังคงได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พนักงานประจำบางส่วนถูกปรับลดเงินเดือน เจ้าของกิจการหลายรายก็มีรายได้ลดลง ส่งผลให้รายได้เริ่มไม่สอดคล้องกับรายจ่าย และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงเป็นหนี้รถยนต์ ซึ่งถือเป็นหนี้ก่อนใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน

     บทความนี้เราจึงขอกล่าวถึง 3 สัญญาณเตือนอันตรายที่บ่งบอกว่าคุณเริ่มที่จะผ่อนรถไม่ไหว เพื่อจะได้ปรับตัวให้ทันต่อสภาพการณ์ในปัจจุบัน หลีกเลี่ยงการเกิดหนี้เสียและการถูกยึดรถที่อาจเกิดขึ้นได้ จะมีอะไรบ้างไปดูกัน

1. มีรถแต่ไม่นำมาใช้งาน

จุดประสงค์หลักของการมีรถยนต์ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของตนเอง แต่การครอบครองรถยนต์หนึ่งคันก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน, ค่าซ่อมบำรุง, ค่าจอดรถ, ค่าประกันภัย และอื่นๆ

จึงทำให้เจ้าของรถหลายคนที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เลือกที่จะจอดรถไว้ที่บ้าน และใช้ทางเลือกอื่นในการเดินทาง เช่น หันไปใช้จักรยานยนต์ที่กินน้ำมันน้อยกว่า หรือเดินทางด้วยรถสาธารณะที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าแทน เหล่านี้อาจถือเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณเริ่มมีโอกาสผ่อนรถไม่ไหวแล้ว

2. เริ่มจ่ายค่างวดล่าช้า

การจ่ายค่างวดล่าช้าเกินกว่าที่ไฟแนนซ์กำหนด ถือเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ หากเป็นการจ่ายล่าช้าเพียงไม่กี่วันอันนี้ไม่มีปัญหา แต่หากค้างชำระเกินกว่า 1 เดือนขึ้นไปอันนี้แสดงว่าปัญหาเริ่มเกิดแล้ว เพราะจะเกิดความลำบากในการกลับมาชำระให้ตรงเวลา (พูดง่ายๆ คือ ค่างวด 1 เดือนยังชำระไม่ไหว จะให้ชำระพร้อมกัน 2 หรือ 3 เดือนยิ่งยากขึ้นไปอีก) และซ้ำร้ายยังต้องเจอกับค่าทวงถามที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนอีกด้วย

3. กู้เงินเพื่อจ่ายค่างวด

มีคนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้วิธีกู้เงินเพื่อนำมาชำระค่างวดรถ แม้ว่าจะช่วยรักษาเครดิตเอาไว้ได้ แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องเผชิญกับหนี้ก้อนใหม่ที่งอกขึ้นมา ในขณะที่ค่างวดรถก็ต้องชำระอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม กลายเป็นว่ามีหนี้ซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก จะกลับตัวก็ลำบาก จะเดินหน้าต่อไปก็เหนื่อยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม แบบนี้ถือว่าสถานะทางการเงินเข้าขั้นเปราะบางแบบสุดๆ

หากว่าตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวแล้วล่ะก็ อาจเตรียมตัวหาทางออกเพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสียในอนาคต ซึ่งปัจจุบันไฟแนนซ์ส่วนใหญ่เปิดรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อลดยอดผ่อนลง หรือจะเลือกใช้วิธีเปลี่ยนสัญญาส่งต่อให้ผู้อื่นก็ได้เช่นกัน

 

 

เครดิต www.sanook.com

 

เทอร์โบ 4JA1 ของ GZL ดีจริงไหม? | แกะกล่อง DIY